หมายพิชิตกรุงธนบุรี (พ.ศ. 2318-2319) ของ อะแซหวุ่นกี้

ดูบทความหลักที่: สงครามอะแซหวุ่นกี้

ศึกกรุงธนบุรีครั้งนี้อะแซหวุ่นกี้วัย 72 ปีได้เดินทางมาถึงเมืองพิษณุโลกแล้ว แต่ไม่อาจเอาชัยได้โดยง่ายนักเนื่องจากในขณะนั้นพระเจ้าตากสิน ได้ส่งพระยาจักรี และพระยาสุรสีห์มาป้องกันเมืองพิษณุโลกอันเป็นหัวเมืองใหญ่ด่านสุดท้ายเอาไว้ ซึ่งการต่อสู้ก็เป็นไปอย่างดุเดือดแม้พระยาจักรีจะทรงใช้การแบ่งกำลังทหารแต่งเป็นกองโจรคอยดักซุ่มตัดเสบียงอาหารเป็นที่ได้ผลในช่วงแรก แต่ด้วยประสบการณ์ของแม่ทัพเฒ่าผู้นี้ก็ทำให้สามารถรับมือได้ทุกครั้ง เมื่อการรบไม่อาจหักเอาได้ด้วยกำลังอะแซหวุ่นกี้ก็ได้ใช้แผนเมื่อครั้งสยบกองทัพต้าชิงนั้นคือหลีกเลี่ยงการปะทะกับกองทัพที่แข็งแกร่ง ทำเพียงตรึงเอาไว้ และหาทางตัดเสบียงอาหาร กล่าวคือเมื่อเจอกองทัพของพระยาจักรี ก็ไม่ส่งทัพใหญ่เข้าปะทะด้วยตรงๆ แต่ให้ทหารเข้าปะทะเพื่อตรึงไว้เท่านั้น จากนั้นก็แต่งกองโจรคอยดักปล้นเสบียงอาหารและตัดกำลังเสริมที่จะเข้ามาช่วยพิษณุโลก สุดท้ายการรบระหว่างอะแซหวุ่นกี้ กับพระยาจักรีก็จบลง แอแซหุว่นกี้สามารถเข้ายึดพิษณุโลกได้แต่ก็ไม่สามารถรุกต่อได้ในทันที ต้องเสียเวลาหาเสบียงอาหารอยู่หลายวัน เนื่องจากเจ้าพระยาจักรีได้แต่งทัพซุ่มมาตัดเสบียงแม่ทัพเฒ่าผู้นี้เอาไว้ตลอดการศึก นับเป็นการสู้รบที่อะแซหวุ่นกี้ทั้งแปลกใจและชื่นชมแม่ทัพศัตรูผู้นี้มาก เมื่อพิชิตเมืองพิษณุโลกอันเป็นหัวใจหลักในแผนป้องกันของกรุงธนบุรีได้แล้ว อะแซหวุ่นกี้จึงได้แบ่งกองทัพออกเป็น3สายกวาดต้อนผู้คนและเสบียงไหล่บ่าลงมาพร้อมๆกัน ส่วนอะแซหวุ่นกี้เป็นทัพหลวงคอยหนุนทัพต่างๆอีกที ในขณะนี้กองทัพทุกสายพร้อมแล้วที่จะมาบรรจบที่กรุงธนบุรี อีกทางด้านหนึ่งพระเจ้ามังระ ก็ส่งเนเมียวสีหบดียกทัพเข้ายึดหัวเมืองทางเหนือได้ราบคาบ ส่วนทัพทางใต้ก็สามารถยึดเมืองกุย เมืองปราณเอาไว้ได้แล้วเช่นกัน ทั้ง2ทัพเตรียมมุ่งสู่กรุงธนบุรีอีกทางหนึ่ง ขณะนั้นสถานการของกรุงธนบุรีวิกฤตมากเนื่องจากหัวเมืองใหญ่เมืองสุดท้ายอย่างพิษณุโลกแตกแล้ว ทั้งทัพใหญ่ของเนเมียวสีหบดีอีกสายก็ตีเชียงใหม่แตกแล้ว อีกทั้งทัพทางใต้ก็ตีมาถึงเมืองเพรชบุรีแล้วเช่นกัน และกำลังจะไหลบ่าลงมารวมกับทัพของอะแซหวุ่นกี้อีก แต่แล้วเหตุการณ์เหนือความคาดหมายก็เกิดขึ้นเมื่อมีข่าวด่วนจากรุงอังวะใจความว่า พระเจ้ามังระเสด็จสวรรคตแล้ว

ตามบันทึกในพงศาวดารฝ่ายไทย (ฝ่ายเดียว) เล่าว่า อะแซหวุ่นกี้วัย 72 ปี ชืนชมเจ้าพระยาจักรีท่านนี้มากที่สามารถมองแผนการของเขาออก และต่อสู้ได้อย่างกล้าหาญจนเป็นที่น่าเกรงขามของกองทัพพม่า จึงได้เกิดการพักรบหนึ่งวันเพื่อดูตัว เมื่อได้พบอะแซหวุ่นกี้ก็ยิ่งแปลกใจขึ้นไปอีก เพราะแม่ทัพที่ต่อสู้กับเขาอย่างสูสียังเป็นเพียงแม่ทัพหนุ่ม จึงได้สรรเสริญเจ้าพระยาจักรีว่าภายหน้าจะได้เป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งต่อมาเจ้าพระยาจักรีก็คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือรัชกาลที่ 1 และเนินดินที่อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี อยู่ที่หน้าสำนักงานเทศบาลเมืองพิษณุโลกในปัจจุบัน (ปัจจุบันราชการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 บนเนินนี้)[7][8]

ประกาศแก่นายกองทั้งปวง

ในหนังสือพระราชพงศาวดารฝ่ายไทยอะแซหวุ่นกี้พูดเชิงตัดพ้อและยกย่องกรุงธนบุรีประมาณว่า พลาดโอกาสครั้งนี้ไป จะหาโอกาสเช่นนี้อีกในภายภาคหน้านั้นยากเสียแล้ว โดยประกาศแก่พวกนายกองทั้งปวงว่า

  • ไทยเดี๋ยวนี้ฝีมือเข้มแข็งนัก ไม่เหมือนไทยแต่ก่อน และเมืองพิษณุโลกเสียครั้งนี้จะได้เสียเพราะฝีมือทหารแพ้เราทั้งหมดนั้นหามิได้ เพราะเขาอดข้าวขาดเสบียงอาหารจึงเสียเมือง ก็ใครเล่าซึ่งจะมารบเมืองไทยสืบไปภายหน้า หากเป็นแม่ทัพที่มีสติปัญญาและฝีมือแต่เพียงแค่เสมอเรา หรือต่ำกว่าเรานั้น อย่ามาทำสงครามตีเมืองไทยเลยจะเอาชัยชนะเขาเสียมิได้ แม้นมีฝีมือดีกว่าเราจึงจะมาทำศึกกับไทยได้ชัยชนะ

ถอนทัพ

ยังไม่ทันที่จะได้รบตัดสินแพ้ชนะกัน อะแซหวุ่นกี้ต้องยกทัพกลับอังวะอย่างกะทันหัน เมื่อทางกรุงอังวะแจ้งข่าวพระเจ้ามังระสวรรคต อะแซหวุ่นกี้จึงต้องนำทัพกลับไปปกป้องพระเจ้าจิงกูจาราชบุตรพระเจ้ามังระ เพื่อป้องกันเหตุความวุ่นวายที่อาจจะมีเนื่องจากอยู่ในช่วงผลัดแผ่นดิน ซึ่งเหล่าบรรดาขุนนางและเสนาอำมาตย์ต่างแตกออกเป็นพวกๆ ให้การสนับสนุนเชื้อพระวงศ์คนละพระองค์ ส่วนอะแซหวุ่นกี้ต้องกลับไปปกป้องราชบุตรของพระเจ้ามังระที่พระองค์ฝากฝังไว้ ครั้งนั้นอะแซหวุ่นกี้มีคำสั่งให้ม้าเร็ว3หน่วย วิ่งไปบอกกองทัพทั้ง3สายที่ไหล่บ่าสู่กรุงธนุบุรีว่าให้รีบถอนกำลังทั้งหมดกลับมาทันที แต่ม้าเร็วแจ้งทันแค่2กองทัพ อีกหนึ่งกองทัพไปไกลแล้ว อะแซหวุ่นกี้จึงมีคำสั่งให้ประหารม้าเร็วหน่วยนั้นเสีย จากนั้นเร่งกองทัพทั้งกลางวันกลางคืนกลับสู่กรุงอังวะ ทิ้งกองทัพอีก1กองที่เหลือไว้ในกรุงธุนบุรีโดยไม่รอ